ไบโอแก๊ส-แก๊สชีวภาพจากขี้หมู ก็ถือว่าเป็น “พลังงานทาง เลือก” อีกรูปแบบที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้ แก๊สชีวภาพหรือไบโอแก๊สเป็นแก๊สที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรียวัตถุ ในกระบวนการ ย่อยสลายโดยไม่ต้องอาศัยออกซิเจนจะเกิดแก๊สชีวภาพขึ้น และในแก๊สชีวภาพนี้ก็ประกอบด้วย ก๊าซมีเทน (CH4), คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) และก๊าซไนโตรเจน (N2) ซึ่งคุณสมบัติของก๊าซมีเทนนั้นเป็นก๊าซที่ติดไฟได้ ดังนั้น “แก๊สชีวภาพ” ที่มีมีเทนอยู่เป็นจำนวนมากจึงสามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนได้
สามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้
สมควร ชูวรรธนะปกณ์ รองผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ บอกว่า... ทางบริษัทได้ทำการศึกษาระบบบ่อหมักไบโอแก๊สหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในฟาร์มสุกรขนาดต่าง ๆ กัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะฟาร์มของบริษัทเท่านั้น แต่รวมถึงฟาร์มของเกษตรกรด้วย โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการเลี้ยงสุกรกับทางบริษัท สร้างระบบบำบัดมูลสุกรในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากระบบไบโอแก๊ส
“บ่อหมักไบโอแก๊สไม่เพียงให้แก๊สมาเป็นพลังงานทดแทน แต่ยังมีกากมูลสุกรเพื่อใช้ทำเป็นปุ๋ยปรับปรุงดิน รวมทั้งน้ำที่ผ่านการบำบัดยังสามารถหมุนเวียนมาใช้ในแปลงเกษตรได้ด้วย”
ในฟาร์มเลี้ยงสุกรแต่ละแห่งนั้น แต่ละวันจะมีมูลสุกรเป็นจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องส่งกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน นอกจากจะสร้างความรำคาญต่อชุมชนแล้วยังสร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม โดยในขี้หมูนั้นมีก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ ซึ่งก๊าซทั้ง 2 ชนิดเป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อมีการคิดค้นหาวิธีจัดการกับมูลสุกร และศึกษาการนำมูลสุกรมาเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนคือไบโอแก๊ส เพื่อใช้ผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านกระแสไฟฟ้า และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
สำหรับรูปแบบของบ่อหมักมูลสุกรที่ใช้ผลิตไบโอแก๊ส ที่ฟาร์ม แห่งนี้ทำในระบบบ่อหมักแบบพลาสติกคลุมบ่อ หรือระบบ Cover Lagoon “เป็นบ่อหมักปิดสนิท ไม่มีปัญหากลิ่นเหม็นและแมลงวัน ซึ่งการทำลงทุนไม่สูง ใช้เวลาสร้างไม่นาน” แค่นำพลาสติกมาคลุมบ่อหมักที่ทุกฟาร์มจะต้องมีกันอยู่แล้ว โดยบ่อหมักแบบนี้จะใช้ระยะเวลาในการหมักให้เกิดแก๊สประมาณ 10-20 วัน จากนั้นแก๊สที่เกิดขึ้นมาจะถูกส่งผ่านไปยังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ Generator เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าไปใช้ในฟาร์มต่อไป
กับฟาร์มที่กาญจนบุรียังได้พัฒนาบ่อหมักให้มีระบบชักกากได้ด้วย ทำให้สามารถชักเอากากตะกอนในบ่อหมักออกมาได้ ช่วยแก้ปัญหากาก ตะกอนเต็มเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเปิดพลาสติกเพื่อขุดกากออก
“กากที่ได้จากระบบจะมีไนโตรเจน 3.67%, ฟอสฟอรัส 4.63%, โพแทสเซียม 0.38%, แคลเซียม 8.23%, แมกนีเซียม 1.53% และโซ เดียม 0.21% เหมาะที่จะนำไปเป็นอาหารให้กับพืช และน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดด้วยระบบนี้จะเป็นน้ำที่มีคุณภาพผ่านเกณฑ์กรมควบคุมมลพิษด้วย” ... รองผู้จัดการบริหารซีพีเอฟระบุ
ด้าน วิโรจน์ ใจบุญมา ผู้จัดการฝ่ายผลิตกิจการสุกรพันธุ์ 3 ก็เสริมว่า... การทำให้เกิดไบโอแก๊สนั้น เกิดได้เพราะน้ำเสียที่อยู่ในบ่อหมักจะเป็นตัวที่มีโปรตีน ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในบ่อได้กินเป็นอาหาร ก็จะทำให้เกิดเป็นแก๊สขึ้นมา โดยบ่อบำบัดของที่ฟาร์มมีอยู่ 2 บ่อ มีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร และลึก 5 เมตร มีเครื่องปั่นไฟ 3 เครื่อง ขนาด 109 กิโลวัตต์ 1 เครื่อง และขนาด 70 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
“สามารถผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊สได้ 80,000 กิโลวัตต์ ต่อ 1 วัน” ...วิโรจน์กล่าว และยังบอกด้วยว่า... สำหรับฟาร์มของเกษตรกรก็สามารถทำระบบแบบนี้ได้เลย เพราะทุกฟาร์มจะต้องมีบ่อเก็บมูลสุกรอยู่แล้ว “แค่ลงทุนค่าพลาสติกที่ใช้คลุมบ่อ และค่าเครื่องปั่นไฟ ค่าใช้จ่ายในการทำประมาณ 200,000-300,000 บาท ฟาร์มทั่วไปถ้าทำระบบแบบนี้ก็จะช่วยลดค่าไฟฟ้าในฟาร์มได้ถึง 30-50% เลยทีเดียว”