พิธีสารเกียวโตได้จำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่าประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 (Annex ICountries) ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีพ.ศ. 2533 ประมาณร้อยละ 5 โดยจะต้องดำเนินการให้ได้ภายในช่วงปีพ.ศ. 2550-2555 (ค.ศ. 2008-2012)
ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 (non-Annex I Countries) ไม่ได้ถูกจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโตภายในระยะเวลาและ ปริมาณที่กำหนดไว้ แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยสมัครใจตาม แต่ศักยภาพของประเทศ
โครงการที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา และสามารถพิสูจน์ได้ว่าลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง จะได้รับเครดิตที่เรียกว่า Certified Emission Reductions (CERs) จากการดำเนินงานตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)
คาร์บอนเครดิต หรือ CERs นี้ สามารถนำไปหักลบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกลุ่มภาคผนวกที่ 1 ได้ ประเทศเหล่านี้จึงมีความต้องการซื้อ CERs เพื่อให้ประเทศของตนสามารถบรรลุพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือน กระจกได้ และประเทศกำลังพัฒนายังสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ อีกด้วย
ก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมโดยพิธีสารเกียวโต ประกอบด้วยก๊าซ 6 ชนิด โดยแต่ละชนิดมีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) แตกต่างกัน เช่น หากลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ 1 ตัน จะเทียบเท่าการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 21 ตัน ดังแสดงใน ตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโตและค่าศักยภาพการทำให้โลกร้อน
ที่มา : Climate Change 1995, IPCC Second Assessment Report
ศักยภาพในการทำให้โลกร้อน |
(เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์) |
1. คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) |
1 |
2. มีเทน (CH4) |
21 |
3. ไนตรัสออกไซด์ (N2O) |
310 |
4. ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) |
140 - 11,700 |
5. เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) |
6,500 - 9,200 |
6. ซัลเฟอร์เฮกซาฟลูโอไรด์ (SF6) |
23,900 |
โครงการที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ CDM จะต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง นั่นคือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลจากการดำเนินโครงการ(Project Emission) นั้นน้อยกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีที่ไม่มีโครงการ (Baseline Emission)
ตัวอย่างโครงการ CDM ได้แก่
โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ ลม แสงอาทิตย์ หรือชีวมวล สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เนื่องจากสามารถลดการผลิตไฟฟ้าจากแหล่ง อื่นที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้
-
โครงการการปรับปรุงกระบวนการบำบัดน้ำเสียหรือบ่อขยะ เพื่อให้สามารถกักเก็บและทำลายก๊าซมีเทน สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบเดิมที่เป็นบ่อผึ่งหรือกองขยะที่ มีการปลดปล่อย ก๊าซมีเทนขึ้นสู่บรรยากาศโดยตรง เมื่อมีการดำเนินโครงการ CDM ก็จะมีการกักเก็บก๊าซมีเทนและนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า
การดำเนินงานในประเทศไทย
ประเภทของโครงการ
โครงการที่เข้าข่ายเป็นโครงการ CDM ในประเทศไทย ได้แก่ โครงการด้านพลังงาน เช่น โครงการพลังงานทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การแปลงกากของเสียอุตสาหกรรมเป็นพลังงาน พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุง/เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โครงการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการแปลงขยะชุมชนเป็นพลังงาน โครงการแปลงน้ำเสียชุมชนเป็นพลังงาน โครงการด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น โครงการการพัฒนาประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
โครงการ CDM ในประเทศไทย
สถานภาพปัจจุบัน
จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานของประเทศไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นปีละ 5% (หรือ 8 ล้านตัน) ซึ่งหากไทยให้การรับรองโครงการ CDM 15 โครงการที่ผ่าน Methodology Panel จะช่วยให้การปล่อยก๊าซ GHG ในภาพรวมของประเทศไทยลดลงได้ 3.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่อปี (tons CO2 equivalent / year) ดังนั้น หากมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินโครงการ CDM มากขึ้น จะช่วย ให้ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลดลง
การรับรองโครงการ CDM ในประเทศไทย
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 เห็นชอบ โครงการ CDM จำนวน 7 โครงการ และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาอย่างเร่งด่วน จำนวน 8 โครงการ ซึ่งทั้ง 7 โครงการสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.2 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 181 เมกะวัตต์ ได้แก่
โครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass)
- โครงการ Dan Change Bio-Energy Cogeneration Project ผลิตไฟฟ้าจาก กากอ้อย และใบอ้อย ตั้งอยู่ที่ จ. สุพรรณบุรี
- โครงการ Phu Khieo Bio-Energy Cogeneration Project ผลิตไฟฟ้าจาก กากอ้อย และ ใบอ้อย ตั้งอยู่ที่ จ. ชัยภูมิ
- โครงการ A.T.Biopower Rice Husk Power Project ผลิตไฟฟ้าจากแกลบ ตั้งอยู่ที่ จ. พิจิตร
- โครงการ Khon Kaen Sugar Power Plant Project ผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อย ตั้งอยู่ที่ จ. ขอนแก่น
- โครงการ Rubber Wood Residue Power Plant in Yala, Thailand ผลิตไฟฟ้าจากเศษไม้ยางพารา ตั้งอยู่ที่ จ. ยะลา
โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (Biogas)
- โครงการ Korat Waste to Energy Project, Thailand ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียโรงงานแป้งมัน ตั้งอยู่ที่ จ. นครราชสีมา
- โครงการ Ratchaburi Farms Biogas Project ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสีย ฟาร์มสุกร ตั้งอยู่ที่ จ.ราชบุรี
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550 ได้เห็นชอบโครงการ CDM จำนวน 8 โครงการ ได้แก่
โครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (Biomass)
- โครงการ Suratthani Biomass Power Generation Project in Thailand ผลิตไฟฟ้าจาก ทะลายปาล์มเปล่า ตั้งอยู่ที่ จ. สุราษฎ์ธานี
- โครงการ Surin Electricity Company Limited ผลิตไฟฟ้าจาก กากอ้อย และใบอ้อย ตั้งอยู่ที่ จ. สุรินทร์
โครงการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากก๊าซชีวภาพ (Biogas)
- โครงการ Wastewater Treatment with Biogas System in a Starch Plant for Energy and Environment Conservation at Nakorn Ratchasima ผลิตพลังงานความร้อนจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียโรงงานแป้งมัน ตั้งอยู่ที่ จ. นครราชสีมา
- โครงการ Wastewater Treatment with Biogas System in a Starch Plant for Energy and Environment Conservation at Chachongsao ผลิตพลังงานความร้อนจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียโรงงานแป้งมัน ตั้งอยู่ที่ จ. ฉะเชิงเทรา
- โครงการ Chumporn Applied Biogas Technology for Advanced Wastewater Management, Thailand ผลิตพลังงานความร้อนจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียโรงงานน้ำมันปาล์ม ตั้งอยู่ที่ จ. ชุมพร
- โครงการ Natural Palm Oil Company Limited – 1 MW Electricity Generation and Biogas Plant Project ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียโรงงานน้ำมันปาล์ม ตั้งอยู่ที่ จ. สุราษฎ์ธานี
- โครงการ Northeastern Starch (1987) Co., Ltd. – Fuel Switching Project ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียโรงงานแป้งมัน ตั้งอยู่ที่ จ. นครราชสีมา
โครงการผลิตไฟฟ้าจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอย (Landfill Gas)
- โครงการ Jaroensompong Corporation Rachathewa Landfill Gas ผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบขยะ ตั้งอยู่ที่ จ. สมุทรปราการ
ประโยชน์ของโครงการ CDM
กลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) เปรียบเสมือนแรงจูงใจให้ประเทศกำลังพัฒนา หันมาใช้เทคโนโลยีสะอาดเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ซึ่งหากไม่มีแรงจูงใจจากกลไกการพัฒนาที่สะอาดแล้ว ประเทศนอกภาคผนวกที่ I จะยังคงใช้เทคโนโลยีแบบเดิมที่มีต้นทุนต่ำและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน ปริมาณมาก โดยแรงจูงใจที่กล่าวถึงคือ CERs ที่ผู้ดำเนินโครงการจะได้รับ และสามารถนำไปขายให้กับประเทศอุตสาหกรรมได้นั่นเองส่วนประเทศเจ้าบ้าน จะได้รับผลประโยชน์คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม
- มีการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับชุมชนในพื้นที่โครงการ
- ลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น โดยการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงาน
- ลดการใช้ทรัพยากรเชื้อเพลิงที่ไม่สามารถทดแทนได้
- คุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศดีขึ้น
- มีการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่สะอาดทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ
ด้านเศรษฐกิจ
- กรณีที่เป็นโครงการ ด้านพลังงานทดแทนจะช่วยให้นำผลิตผลทางการเกษตร เช่น ปาล์ม มะพร้าว ทานตะวัน ผลสบู่ดำ ฯลฯ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน
- เกษตรกรสามารถนำวัสดุเหลือใช้ เช่น แกลบ ใบอ้อย เศษไม้ ฯลฯ ไปขายเพื่อเป็นวัตถุดิบในการดำเนินโครงการ CDM
- กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
- มีการผลิตสินค้าด้วยวิธีการที่สะอาดขึ้น
- ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงพลังงาน
- กระตุ้นเศรษฐกิจระดับชาติและเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
- มีรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการซื้อขาย CERs ลดภาระของประเทศที่ภาครัฐจะต้องลงทุนในการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน
ด้านสังคม
- ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเฉพาะด้านสุขภาพอนามัยจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
- เพิ่มทางเลือกในการประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสภาวะแวดล้อม
- มีบทบาทในเวทีโลกในการแก้ไขปัญหาระดับนานาชาติ
- ทำให้เพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ
- ข้อมูลจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)]