|
สมุทรสาคร
หนึ่งในเมืองชายทะเลของไทยที่น่ารู้จัก |
การตั้งชื่อเพื่อให้มีส่วนช่วยบ่งบอกรูปพรรณสัณฐาน เห็นจะใช้ได้ไม่จำกัด เพราะชื่อของจังหวัดสมุทรสาคร ได้ยินครั้งแรกก็คงเดากันได้ถึงภูมิประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล โดยเมืองปริมณฑลเล็ก ๆ แห่งนี้ถือเป็นเมืองชายฝั่งที่มีการทำประมงที่ใหญ่ และสำคัญมากแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญในเวลาเดียวกันอีกด้วย เนื่องจากสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ จึงเป็นที่รองรับความเจริญและการขยายตัวจากเมืองหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรม ทำให้เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนจึงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมถึง 70% แต่ก็มีประชาชนบางส่วนที่ยังยืนหยัดประกอบอาชีพทำการประมง ทำการเกษตร และค้าขายในภาคพาณิชย์เพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้ภาพรวมของสภาพสังคมของจังหวัดสมุทรสาครเป็นแบบกึ่งชนบทกึ่งเมือง |
ที่ตั้ง |
จังหวัดสมุทรสาครตั้งอยู่บนปากน้ำท่าจีน ห่างจากทะเลเพียง 2 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 36 กิโลเมตร |
พื้นที่ |
มีพื้นที่ประมาณ 875,348 ตารางกิโลเมตร |
อาณาเขต |
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดนครปฐม |
ทิศใต้ |
ติดกับอ่าวไทย |
ทิศตะวันออก |
ติดกับกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ |
ทิศตะวันตก |
ติดกับจังหวัดสมุทรสงครามและราชบุรี |
|
แม่น้ำลำคลอง |
มีแม่น้ำท่าจีนเป็นแม่น้ำสายหลัก ไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่จังหวัดเป็นระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร และมีคลองที่สำคัญ คือ คลองมหาชัย คลองพิทยาลงกรณ์ คลองภาษีเจริญ คลองสุนัขหอน และคลองดำเนินสะดวก |
ภูมิอากาศ |
จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ ชายทะเลก้นอ่าวไทย อยู่ในอิทธิพลของลมบกและลมทะเล รวมทั้งมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านในช่วงฤดูร้อน ทำให้มีลักษณะอากาศแบบฝนเมืองร้อน อากาศโดยทั่วไปจึงเย็นและชุ่มชื้น |
ภูมิประเทศ |
เป็นที่ราบลุ่มสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชายฝั่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1-2 เมตร มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน พื้นที่ตอนบนของจังหวัดถัดจากชายฝั่งทะเลขึ้นไปมีคลองธรรมชาติ และคลองขุดอยู่หลายสาย เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงกับแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่ตอนล่างติดกับอ่าวไทย มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 41 กิโลเมตร เป็นป่าชายเลนดินเค็ม เพราะน้ำทะเลท่วมถึง จึงเหมาะแก่การทำนาเกลือ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง |
เชื้อชาติ |
ประชากรของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน และเชื้อสายรามัญ |
การปกครอง |
จังหวัดสมุทรสาครแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร (มี 18 ตำบล 115 หมู่บ้าน) อำเภอกระทุ่มแบน (มี 10 ตำบล 76 หมู่บ้าน) อำเภอบ้านแพ้ว (มี 12 ตำบล 97 หมู่บ้าน) |
เรื่องเล่าเก่าก่อน |
ของเมืองแห่งมหาสมุทร ... สมุทรสาคร |
เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ ผู้เด็ดเดี่ยวและยึดมั่นอยู่ในความถูกต้อง ซึ่งยินดีน้อมรับโทษประหาร เหตุเพราะ ทำงานบกพร่อง ทั้ง ๆ ที่สามารถลดหย่อนโทษได้ ในคราวที่พระเจ้าเสือเสด็จประพาสทางชลมารคแถบจังหวัดสมุทรสาครนั้น กลายเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ที่ติดตรึงใจคนไทยในยุคนั้นจนกระทั่งปัจจุบัน โดยทั้งหมดได้ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีผลทำให้เราได้รู้จักกับเมืองสมุทรสาครมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า จังหวัดนี้เดิมเรียกว่า ท่าจีน เพราะแต่เดิมเป็นตำบลใหญ่อยู่ติดอ่าวไทย มีชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีนนำสำเภาเข้ามาจอดเทียบท่าค้าขายกันมาก จึงเรียกติดปากกลายเป็นตำบล ท่าจีน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกหลายเมือง ด้วยมีพระราชประสงค์จะใช้เป็นที่ระดมพลเวลาเกิดสงครามและเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันผู้รุกรานทางทะเลอย่างเช่นพม่า บ้านท่าจีนจึงยกฐานะเป็น เมืองสาครบุรี ตั้งแต่นั้นมา จนถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรีเป็น เมืองสมุทรสาคร เพื่อเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดม ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองให้มีการจัดระบบราชการส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาล และได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาล เรียกว่า สุขาภิบาลท่าฉลอม จึงถือได้ว่าสุขาภิบาลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร เป็นสุขาภิบาลแห่งแรกในหัวเมืองของประเทศไทย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า เมือง เป็น จังหวัด ทั่วทั้งประเทศ เมืองสมุทรสาครจึงได้เปลี่ยนจากเมืองสมุทรสาครเป็น จังหวัดสมุทรสาคร มาจนทุกวันนี้ |
คำขวัญประจำจังหวัดสมุทรสาคร |
เมืองประมง |
ดงโรงงาน |
ลานเกษตร |
เขตประวัติศาสตร์ | |
|
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด |
|
เป็นรูปเรือสำเภาจีนแล่นอยู่ในทะเล ด้านหลังเป็นโรงงาน เหตุที่ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีบรรดาเรือสินค้าของชาวจีน และมะละกามาค้าขายที่เมืองนี้มาก ทั้งยังเป็นที่จอดพักของสำเภาจีน ทำให้บริเวณนี้มีเรือสำเภาจีนอยู่เป็นจำนวนมาก จนถูกเรียกว่า บ้านท่าจีน |
สีประจำจังหวัด |
สมุทรสาคร มีความหมายว่าเป็นเมืองชายทะเล จึงใช้สีน้ำเงินเป็นสีประจำจังหวัด |
ธงประจำจังหวัด |
ใช้สัญลักษณ์ประจำจังหวัดวางอยู่บนพื้น ซึ่งเป็นสีฟ้าน้ำทะเลและสีชมพู | |
|
ต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัด |
ต้นพญาสัตบรรณ เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสมุทรสาคร รู้จักกันทั่วไปในนามของต้นตีนเป็ด เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้น เปลือกสีเทาอ่อนใบเรียงกันเป็นวงคล้ายตีนเป็ด มีดอกสีขาวอมเขียว ออกดอกเป็นกลุ่มบนช่อตามปลายกิ่ง |
ของขวัญของฝากของสมุทรสาคร |
อาหารจากทะเลทุกชนิด เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย ปลาหมึก ปลาเค็ม กุ้งแห้ง น้ำปลา ข้าวเกรียบกุ้ง กะปิ สำหรับผลไม้ส่วนใหญ่มาจากเกษตรกรชาวสวนบ้านแพ้ว ได้แก่ ส้มตรามะม่วง ชมพู่ พุทรา ส้มเขียวหวาน องุ่น ส้มโอ ฝรั่ง ละมุด กล้วย มะละกอ มะขามหวาน มะพร้าวน้ำหอม ไม้ดอกไม้ประดับจากอำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน ซึ่งมีกล้วยไม้พันธุ์แปลก ๆ หลายพันธุ์ | |
| | | |
|