此页面上的内容需要较新版本的 Adobe Flash Player。

获取 Adobe Flash Player

News


อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ, อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศ, อัตราดอกเบี้ยตั๋วแลกเงิน, อัตราซื้อขายตราสารนี้ในตลาดรอง, อัตราซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ทองคำ, รายงานการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และอื่นๆ
Currency Exchange Rate, Deposit Rate, Bill of Exchange (B/E) Rates, Secondary Bond Trading, Forward Rate, Gold and Currency Exchange Reports etc.

วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ
ECON ANALYSIS, BUSINESS ANALYSIS

รายงานบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ การค้าและนโยบายการลงทุนของแต่ละประเทศ และรายงานการวิเคราะห์แต่ละภาคการตลาดและอื่น ๆ
ASEAN investment trade and economic analysis report, each market sector analysis reports, etc.
หมวดที่ 1

ความทั่วไป

ข้อ 1 สมาคมนี้มีชื่อ ภาษาไทยว่า สมาคมนักธุรกิจกว๋องสิว (ประเทศไทย)
ภาษาจีนว่า 泰國廣肇商會
ภาษาอังกฤษว่า KWONG SIEW COMMERCE ASSOCIATION OF THAILAND
ตราสำคัญของสมาคมเป็นรูปวงรี มีเส้นรอบวงรีสองชั้น ภายในวงรีแบ่งเป็นสามส่วน
ส่วนบนมีข้อความว่า สมาคมนักธุรกิจกว๋องสิว (ประเทศไทย) ส่วนกลางอยู่ในกรอบเส้นตรงแบ่งส่วนสองเส้น มีข้อความเป็นภาษาจีน คำว่า泰國廣肇商會มีความหมายว่า สมาคมของชาวนักธุรกิจกวางตุ้งในประเทศไทย ส่วนล่างมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษ คำว่า KWONG SIEW COMMERCE ASSOCIATION OF THAILAND มีความหมายว่า สมาคมนักธุรกิจกว๋องสิว (ประเทศไทย)
รูปตราสำคัญของสมาคมฯปรากฏดังนี้
ข้อ 2 สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ ณ เลขที่ 511 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ข้อ 3 วัตถุประสงค์ของสมาคม
3.1 เสริมสร้างสมาชิกให้มีมิตรภาพไมตรีจิตต่อกัน
3.2 เพื่อส่งเสริมการศึกษา การกุศล และงานสาธารณประโยชน์
3.3 ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง
3.4 เพื่อฝึกฝนและเสริมสร้างบุคลากรของสมาคม
3.5 ให้ความร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
3.6 แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาคมต่าง ๆ ในต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน

หมวดที่ 2
สมาชิก

ข้อ 4 สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภทคือ
4.1 สมาชิกสามัญได้แก่ ชาวไทยเชื้อสายจีนกวางตุ้ง (กว๋องสิว) และชาวจีนกวางตุ้ง (กว๋องสิว) ไม่จำกัดเพศ
4.2 สมาชิกสมทบ ได้แก่ ชาวไทยหรือชาวจีนเชื้อสายอื่นนอกเหนือจาก ข้อ 4.1
4.3 สมาชิกนิติบุคคล ได้แก่นิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วน บริษัท ฯลฯ
ข้อ 5 สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
5.1 เป็นผู้มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์
5.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
5.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
5.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษา
ของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
5.5 ตัวแทนของสมาชิกนิติบุคคล ต้องได้รับการแต่งตั้งจากนิติบุคคลนั้น และต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 5.1-5.4
ข้อ 6 ค่าลงทะเบียน ค่าบำรุงสมาคมและเงินบริจาคประจำสมัยของคณะกรรมการ
6.1 สมาชิกสามัญ จะต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้าและค่าบำรุง รวม 500 บาท ตลอดชีพ
6.2 สมาชิกสมทบ จะต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้าและค่าบำรุง รวม 1,000 บาท ตลอดชีพ
6.3 สมาชิกนิติบุคคล จะต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้าและค่าสมาชิก รวม 2,000 บาท ตลอดชีพ
6.4 คณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการบริหารจะบริจาคเงินประจำสมัย และบริจาครายเดือนตามที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมของคณะกรรมการสมัยนั้น ๆ หรือมีการลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อทบทวนข้อตกลงในภายหลัง
ข้อ 7 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 2 คน และให้มีการนำเสนอชื่อผู้สมัครต่อที่ประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมและเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขานุการ
เป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อ 8 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการและสมาชิกภาพของผู้สมัครนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าสมาชิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าสมาชิกภายในกำหนดก็ให้ถือว่าการสมัครนั้นเป็นอันยกเลิก
ข้อ 9 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
9.1 ตาย
9.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณา
อนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
9.3 ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิก
9.4 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ข้อ 10 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
10.1 มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
10.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
10.3 มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
10.4 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม แต่สมาชิกสามัญที่มีสมาชิกภาพไม่ถึง 180 วัน ไม่มี สิทธิในการรับเลือกตั้งหรือลงคะแนนเสียงในที่ประชุม
10.5 สมาชิกสามัญและตัวแทนของสมาชิกนิติบุคคลมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง แต่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองไม่มีการมอบฉันทะ
10.6 มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาในการจะอนุญาตให้ตรวจสอบเอกสารหรือบัญชีทรัพย์สินของสมาคมฯ
10.7 สมาชิกสามัญมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 100 คน ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
10.8 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
10.9 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
10.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
10.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
10.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ 3
การดำเนินกิจการของสมาคม

ข้อ 11 ให้มีตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์และนายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพโดยมีคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่งดังนี้
11.1 นายกกิตติมศักดิ์คือบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอุปนายกมาอย่างน้อย 2 สมัย และทำคุณประโยชน์
ให้แก่สมาคม หรือเป็นบุคคลที่คณะกรรมการพิจารณาเรียนเชิญ และให้ดำรงตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการชุดนั้น ๆ
11.2 นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพคือบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งนายกอย่างน้อย 1 สมัย หรือนายกสมาคมกว๋องสิวแห่งประเทศไทยที่เคยทำคุณประโยชน์ให้แก่สมาคม และเป็นบุคคลที่คณะ กรรมการเรียนเชิญให้ดำรงตำแหน่ง
ข้อ 12 การดำเนินงานของสมาคม ให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการอำนวยการสมาคม และคณะกรรมการบริหารสมาคม
ข้อ 13 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมมีจำนวนอย่างน้อย 20 คน อย่างมากไม่เกิน 50 คน คณะกรรมการนี้ต้องเป็นสมาชิกสามัญที่ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน และอุปนายกไม่เกิน 5 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆของสมาคม ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
13.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคมในการ
ติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุม
ใหญ่ของสมาคม
13.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการของสมาคมปฏิบัติหน้าที่ ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
13.3 เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคมและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
13.4 เหรัญญิก มีหน้าที่รับผิดชอบการเงิน รายรับและรายจ่ายของสมาคม
13.5 ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
13.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
13.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
13.8 กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้ กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่ง ก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง
ข้อ 14 คณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการบริหารของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่และทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับการเลือกตั้ง ในระหว่างที่ยังทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการชุดเก่าดำเนินการไปก่อน
กรรมการที่ดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว จะรับเลือกกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกก็ได้ ทั้งนี้เว้นแต่ตำแหน่งประธานหรือนายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งประธานหรือนายกสมาคมติดต่อกันเกินสองวาระมิได้ ประธานหรือนายกซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ข้อบังคับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ ให้นับวาระซึ่งกำลังดำรงตำแหน่งอยู่นั้นเป็นวาระแรก
ข้อ 15 ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิก
สามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่าวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น หากคณะกรรมการเห็นว่าตำแหน่งที่ว่างลงแล้วจำนวน
กรรมการที่เหลืออยู่สามารถดำเนินกิจการของสมาคมได้ หรือคณะกรรมการเหลือวาระครบกำหนดไม่ถึง 6 เดือน จะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลงก็ได้ ให้นายกสมาคมคัดเลือกและแต่งตั้งผู้จัดการสมาคม 1 คน เพื่อทำหน้าที่บริหารงานทั่วไปและดำเนินงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ในกรณีที่งานของสมาคมมีปริมาณมาก จะแต่งตั้งรองผู้จัดการสมาคมอีก 1 คนก็ได้
ข้อ 16 กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้คือ
16.1 ตาย
16.2 ลาออก
16.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
16.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยที่ประชุมต้องมีเสียงมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ที่อยู่ในที่ประชุมพิจารณาวาระดังกล่าว
16.5 มิได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมตามข้อ 6.4 หรือมิได้ส่งเงินบริจาครายเดือนเกินกว่า 6 เดือน
ข้อ 17 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคม หากนายกสมาคมประสงค์จะลาออกจากการดำรงตำแหน่งให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้คณะกรรมการสมาคมเลือกนายกสมาคมขึ้นใหม่ภายในกำหนด 30 วัน การเลือกนายกสมาคมให้ดำเนินการโดยอาศัยความในข้อ 13 โดยอนุโลม
ข้อ 18 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ
18.1 มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายของสมาคมฯ
18.2 วางระเบียบในการปฏิบัติงานของสมาคมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับข้อบังคับของสมาคม
18.3 ควบคุมดูแลให้ปฏิบัติตามนโยบาย
18.4 มีอำนาจร่วมแต่งตั้งนายกสมาคมและถอดถอนนายกสมาคม
ข้อ 19 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
19.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
19.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
19.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
19.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
19.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิกำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
19.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
19.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมดรวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
19.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 100 คนของสมาชิกสามัญทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมวิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ
19.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถให้สมาชิกตรวจดูเมื่อสมาชิกร้องขอ
19.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
19.11 มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
19.12 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร เป็นไปตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ 20 คณะกรรมการอำนวยการประชุมกันอย่างน้อย 1 ครั้งของทุก 3 เดือน เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
ข้อ 21 คณะกรรมการบริหารประชุมกันอย่างน้อย 1 ครั้งของทุก 2 เดือน เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมออกเสียงเพิ่มได้อีก 1 เสียง
ข้อ 22 ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น



หมวดที่ 4
การประชุมใหญ่

ข้อ 23 การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ชนิด
23.1 การประชุมใหญ่สามัญ
23.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 24 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือนพฤษภาคม ของทุก ๆ ปี
ข้อ 25 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นสมควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้น ด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 100 คน และต้องลงชื่อด้วยตนเอง เพื่อร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น
ข้อ 26 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ไปยังสมาชิกตามที่อยู่ ที่ได้จดทะเบียนไว้แก่สมาคมเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดย จะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และติดประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่ หรือจะแจ้ง กำหนดโดยการประกาศ วัน เวลา และสถานที่ทางหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่า 7 วันก็ได้
ข้อ 27 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
27.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
27.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
27.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
27.4 เลือกตั้งผู้สอบบัญชี และกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้สอบบัญชี
27.5 เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)
ข้อ 28 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้ง โดย จัดให้มีการประชุมครั้งที่ 2 ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิกตามข้อ 25 หากผู้เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 2 ไม่ถึง 50 คน ก็ให้ถือเป็นอันยกเลิก
ข้อ 29 การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าเรื่องใดไม่มีข้อบังคับกำหนดไว้ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 30 ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5

การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 31 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหาร เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคาร หรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ 32 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม และอุปนายกลงนามร่วมกัน 2 ใน 5 คน พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ 33 ให้นายกสมาคมมีอำนาจอนุมัติสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 50,000.00 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องรับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริหารจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 200,000.00 บาท (สองแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการบริหาร
ข้อ 34 ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 20,000.00 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ 35 เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นเอกสาร ลงลายมือชื่อของผู้รับผิดชอบตามระดับความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง งบดุลประจำปีของสมาคมต้องมีการตรวจสอบรับรองโดยผู้สอบบัญชี และแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี
ข้อ 36 ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต และได้รับการแต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
ข้อ 37 ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการ บริหาร หรือเจ้าหน้าที่ ทั้งสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถาม เกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ 38 คณะกรรมการบริหารจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 6
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 39 ข้อบังคับสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่ของ
การพิจารณาแก้ไขข้อบังคับจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ
สมาชิกสามัญที่อยู่ในที่ประชุมขณะนั้น
ข้อ 40 การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่เรื่องให้เลิกสมาคมจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่
น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดของสมาคมและสมาชิกต้องลงคะแนนเสียงให้เลิกสมาคมไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่อยู่ในที่ประชุมขณะนั้น
ข้อ 41 เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชี เป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของมูลนิธิ โรงพยาบาลกว๋องสิว มูลนิธิ


หมวดที่ 7
บทเฉพาะกาล

ข้อ 42 ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่ได้รับอนุมัติจากการจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับจากเจ้าพนักงาน
 


ลิขสิทธิ์ © ๒๕๕๔ Kcaot.org. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
511 ถนนเจริญกรุง ป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ 10100
Tel:(66)2 2242764   Fax:(66)2 2211629   Email: info@kcaot.org

Network by Thaicn.com®